เชื่อว่าท่านผู้อ่านที่กดเข้ามาอ่านในบทความนี้ ต่างก็อยากเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีกัน ไม่ต่างจากข้าพเจ้า จากการได้อ่านหนังสือ และค้นหาในที่ต่างๆ ของการที่จะทำให้เราก้าวเข้ามาเป็นเศรษฐีได้นั้น จึงพบหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4”
ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4หรือ
ที่เราเรียกๆ กันติดปากว่า
“คาถาหัวใจเศรษฐี (อุ อา กะ สะ)” นั่นเอง
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน 4 อย่าง บ้างเรียกว่า หัวใจเศรษฐี “อุ อา กะ สะ” อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ
หัวใจเศรษฐี ก็คือ หลักธรรมที่นำไปสู่จุดหมายนั่นเอง จะทำอะไรก็สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า พนักงานบริษัท นักธุรกิจ นักการเมือง ถ้านำหัวใจเศรษฐีนี้ไปปรับใช้กับชีวิตก็รับประกันได้ถึงความสำเร็จ
ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม 4 ประการ คือ
- อุ : อุฏฐานสัมปทา คือ ความขยัน ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้น ให้สามารถทำได้สำเร็จ
- อา : อารักขสัมปทา คือ รักษาดี ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่างๆ
- กะ : กัลยาณมิตร คือ มีเพื่อนดี คบคนดี ไม่คบคนชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
- สะ : สมชีวิตา คือ ใช้ชีวิตพอเพียง อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
ในส่วนของ อา : อารักขสัมปทา นั่น ทางพระพุทธองค์ยังได้อธิบายเพิ่ม และยังสอนวิธีเก็บรักษาเงินเอาไว้เป็นข้อๆ ดังนี้
- หมั่นเก็บออม ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เงินก้อนนี้ต้องมี ปัจจุบันกูรูทางการเงิน ก็มักจะแนะนำให้เราหัก 10% จากรายได้ เพื่อออม ซึ่งยังถือเป็นการฝึกนิสัยเศรษฐ๊อีกด้วย
- นำเงินส่วนหนึ่งเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อย่าตะหนี่ถึ่เหนี่ยว จนอดอยาก ทำให้ครอบครัวลำบาก เงินจะมีค่า เมื่อมันถูกใช้จ่ายออกไป
- เมื่อเงินออมเรามีมากในระดับหนึ่ง เราก็ควรนำมาต่อเงิน ใช้เงินสร้างเงิน เพื่อให้เงินออกลูก ออกหลาน ทำงานแทนเรา เงินเราจะงอกเงย เพิ่มพูน
- จ่ายคืนสู่สังคม ในรูปบริจาค หรือ จ่ายภาษี เพื่อให้แผ่นดินมีเงินนำไปพัฒนา
- บำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ ได้มีแรงในการปฏิบัติธรรม สืบทอดพระพุทธศาสนา
ดังนั้น เราควรท่องคาถาหัวใจเศรษฐีนี้ทุกครั้ง เพื่อให้เราเข้าใจ และเน้นย้ำถึง ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 คือ ขยัน รักษาดี มีเพื่อนดี และมีชีวิตที่พอเพียง เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว ทุกท่านก็จะได้เป็นเศรษฐ๊ มหาเศรษฐีสมใจ